สดไหม! เจาะปมตบกระฉ่อนเมือง 'แพท ณปภา' สรุปใครผิด?

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1302
หางาน,สมัครงาน,งาน,สดไหม! เจาะปมตบกระฉ่อนเมือง 'แพท ณปภา' สรุปใครผิด?

จากประเด็นกระฉ่อนสังคม “ตบสะท้านเมือง” ของดาราสาวชื่อดังแห่งวิกน้อยสี สู่ภาพสะท้อนเหตุรุนแรงในสังคมที่มักปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะจิกตบ ตัวต่อตัว หรือยกพวกรุม ส่วนใหญ่มักมีมูลเหตุมาจากเรื่องราวชิงรักหักสวาท และเกิดจากความรู้สึกเสียศักดิ์ศรีทั้งสิ้น

โอกาสนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ หยิบเรื่องราว “ตบสะท้านเมือง” ซึ่งกำลังตกเป็นที่สนใจของสังคม สู่ภาพฉายอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกระทำ และเป็นประโยชน์ต่อการลดเหตุรุนแรงต่อไป

 

แพท ณปภา ตันตระกูล

 

แพท แจง แค่ไปเคลียร์ให้หลาน

ทะเลาะวิวาท...หาผู้เริ่มไม่ได้ถือว่าผิดทั้งคู่

นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ ให้ข้อมูลด้านกฎหมายว่า คำว่า"ทะเลาะวิวาท" ตามกฎหมาย คือ การสมัครใจเพื่อเข้าไปใช้กำลังต่อกันและกัน แต่เมื่อมีการแจ้งความเกิดขึ้นต่างฝ่ายต่างแจ้งความว่า โดนทำร้ายร่างกายแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้สมัครใจไปทะเลาะวิวาทด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสอบสวนโดยใช้พยานหลักฐานว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ฝ่ายใดเป็นฝ่ายป้องกัน

ขณะเดียวกัน ข้อหาทะเลาะวิวาทมีความเป็นไปได้ว่ามีความผิดทั้งสองฝ่าย เพราะหากเกิดเหตุการณ์ชุลมุนขึ้นมาไม่รู้ว่าฝ่ายใดเริ่มก่อน ในทางกฎหมายจะกลายเป็น "การร่วมกันทะเลาะวิวาท" คือ ผิดทั้งสองฝ่าย แต่จะผิดมากหรือน้อย ผิดอย่างไร ต้องพิสูจน์กันต่อไป

ทีมข่าวพูดคุยกับ พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย ผบก.น.6 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกระบวนการแจ้งความดำเนินคดีว่า นาย ก. ไปแจ้งความเอาผิดนาย ข. ซึ่งนาย ก. จะต้องแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า นาย ก. นั้น โดนทำร้ายอย่างไร โดนทำร้ายลักษณะใด มีการใช้อาวุธหรือไม่ พร้อมกันนั้น นาย ก. ต้องแสดงร่องรอยบาดแผลบนร่างกายประกอบการแจ้งความด้วย

หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า ร่างกายมีร่องรอยบาดแผลจากการถูกทำร้ายจริง ก็จะส่ง นาย ก. ไปตรวจร่างกาย พร้อมทำแผลที่โรงพยาบาล เพื่อเอาใบรับรองแพทย์ และไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน

 

ดาราสาววิกสามพระรามสี่

 

สำหรับบทลงโทษต้องเป็นเรื่องของคดีลหุโทษ ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะพิจารณาจากคำให้การว่า คำให้การของนาย ก. ต่อพนักงานสอบสวนเกินกว่าเหตุ หรือสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งประชาชนบางรายอ้างว่าโดนทำร้าย โดนทุบตี แต่เมื่อตรวจดูจากสภาพร่างกาย กลับไม่พบร่องรอยบาดแผลใดๆ ซึ่งกรณีนี้เรียกว่า “ให้การเกินกว่าเหตุ”

“ในกรณีที่ นาย ก. ทำร้ายนาย ข. ฝ่ายเดียว นาย ข. มีสิทธิ์แจ้งความ แต่ถ้านาย ข. ทำร้ายนาย ก.ด้วย กรณีเช่นนี้ก็ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาลต่อไป” พล.ต.ต.ทรงพลกล่าวถึงความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย

ทางออกทะเลาะวิวาท...ไกล่เกลี่ย ปรับ 500 แล้วจบจริงหรือ?

นายนิวัติ กล่าวว่า การทะเลาะวิวาท มีความผิดกระทงเดียว แต่ถ้ามีการบาดเจ็บเล็กน้อย หรือต้องเข้ารับการรักษา 7-10 วัน จะเข้าข้อกฎหมายที่ว่า เหตุทะเลาะวิวาททำให้เป็นอันตรายต่อกายและใจ โทษปรับ ไม่เกิน 10,000 บาท

หากเป็นการทำร้ายร่างกายที่ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยแพทย์จะต้องลงความเห็นว่า รักษาเกินกว่า 20 วัน จึงจะถือว่าบาดเจ็บสาหัส อัตราโทษจะเพิ่มขึ้นอีก

แต่ทั้งนี้ นายนิวัติ เผยว่า ทางออกของกฎหมายคงยอมความไม่ได้ เนื่องจากเป็นคดีอาญา และต้องดูว่าพนักงานสอบสวน ได้ทำการบันทึกถึงขั้นตอนใด เช่น เป็นการแจ้งความเพื่อเอาผิดหรือไม่ หรือแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐาน และถ้ายังไม่ได้มีการบันทึกประจำวันว่าเป็นการแจ้งความเพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยชัดเจน หรือไปแจ้งความแล้วมีการไกล่เกลี่ยเกิดขึ้น กระทั่งเป็นทางออกของคดีนั้นได้ พนักงานสอบสวนจะสามารถเปรียบเทียบปรับได้ในชั้นโรงพักโดยที่คดีไม่ต้องถึงชั้นศาล

 

นางเอกสาวสวมเสื้อสีแดง อยู่ในที่เกิดเหตุครั้งนี้ด้วย

“คดีพวกนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง แต่ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาตบตีกัน ขึ้นโรงพักปรับคนละ 500 บาท ต่างฝ่ายต่างไม่เอาโทษกันคดีก็จบ” เลขาธิการสภาทนายความ กล่าว

นายนิวัติ อธิบายเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายว่า หากต้องการจะเรียกค่าเสียหายจากการทะเลาะวิวาทนั้น ถ้าเจ้าทุกข์เป็นผู้กระทำความผิดร่วมกันทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทด้วย เจ้าทุกข์จะไม่สามารถยกข้อกฎหมายขึ้นมาเพื่อเรียกสิทธิ์ใดๆ ได้ เพราะเมื่อมีการพิสูจน์แล้วว่าต่างฝ่ายต่างผิด อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งเพราะเหตุนั้นไม่ได้ กฎหมายไม่คุ้มครองผู้กระทำความผิดด้วยกัน

พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย ผบก.น.6 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการไกล่เกลี่ยยอมความของคู่กรณีว่า หากพูดคุยไกล่เกลี่ยในขั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะสามารถยอมความกันได้ แต่ในกรณีที่พูดคุยกันไม่รู้เรื่อง หรือไม่สามารถตกลงกันได้ คดีดังกล่าวจะต้องไปสิ้นสุดกันในชั้นศาล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำ พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหา และนัดวันขึ้นศาล เพื่อไปไกล่เกลี่ยกันในชั้นศาล โดยใช้ใบรับรองแพทย์จากการตรวจร่างกาย ซึ่งศาลจะใช้ดุลยพินิจจากใบรับรองแพทย์ประกอบการพิพากษา

 

คลิปตบจากคู่กรณีของนางเอกสาว

จิตสำนึก...ทางออกลดเหตุวิวาท  

พล.ต.ต.ทรงพล กล่าวถึงปัญหาทะเลาะวิวาทในสังคมไทยว่า คดีทะเลาะวิวาท นับเป็นคดีทั่วไปที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคม และมักเกิดจากสาเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ควรบานปลายไปจนถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายกัน โดยประเด็นความขัดแย้งที่พบเห็นมากที่สุด อาทิ เรื่องราวชิงรักหักสวาท ความรู้สึกเสียศักดิ์ศรี การถูกยั่วยุ หรือความคึกคะนองตามธรรมชาติของวัยรุ่น

“บางครั้งเรื่องหมาๆ ก็อาจทำให้คนธรรมดาทะเลาะกันได้ เช่น บ้างหลังหนึ่งเลี้ยงหมา แต่หมาเห่ารบกวนบ้านข้างๆ จนบ้านข้างๆ เอาไม้มาตีหมา จนในที่สุดเจ้าของหมาและข้างบ้านเกิดการชกต่อย แจ้งความดำเนินคดีกัน ให้เรียกง่ายๆ ว่า เรื่องหมาๆ ก็ทะเลาะกันได้” รองโฆษก สตช. กล่าวเปรียบเทียบ

พล.ต.ต.ทรงพล แนะทางออกของปัญหาทะเลาะวิวาทไว้ว่า “เมื่อเกิดเหตุทะเลาะวิวาท แล้วเรื่องถึงมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขั้นตอนนี้นับว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ โดยท้ายที่สุด ปัญหาทะเลาะวิวาท ต้องแก้กันให้ตรงจุด โดยจุดนั้นคือ จิตสำนึกของแต่ละบุคคล”

 

ตำรวจรอเรียกทั้งสองฝ่ายเข้ามาให้การสอบสวน

 

บทสรุปของคดีนางเอกสาวจะจบลงเช่นไร?


คืบหน้าทางคดี ปมคลิปตบมีดาราสาวโผล่

พ.ต.อ.ธรรมนูญ บุญเรือง ผกก.สน.วัดพระยาไกร ในฐานะ สน.ผู้รับผิดชอบคดีกล่าวถึงกรณีดาราสาวที่ปรากฏในคลิปตบว่า ในส่วนของคดี ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการเรียกทั้งสองฝ่ายเข้ามาให้การสอบสวน เพื่อดำเนินการทางคดีให้จบได้เร็วที่สุด ซึ่งจากการสอบถามพนักงานสอบสวน ทราบว่ายังไม่ได้เจอตัวทั้งสองฝ่าย โดยคดีดังกล่าวเป็นคดีลหุโทษ ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ซึ่งต้องพิจารณาตามใบรับรองแพทย์ต่อไป.

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top